ชมพู่ เป็นไม้ผลเขตร้อนที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย คนไทยนิยมปลูกตามบ้านและกินกันมานาน ผลชมพู่โดยส่วนใหญ่จะมีรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยมฐานกว้างคือ ผลครึ่งบนด้านขั้วจะค่อนข้างเล็ก แล้วค่อยใหญ่ไปทางก้นผล มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ตรงปลาย เมื่อผ่าครึ่งตามยาวจะมีลักษณะคล้ายจมูกคน ชมพู่มีหลากหลายพันธุ์ ทั้งพันธุ์ดั้งเดิมที่ปัจจุบันหาดูและหากินได้ยาก อย่างพันธุ์น้ำดอกไม้ สาแหรก มะเหมี่ยว หรือพันธุ์ที่มีการปรับปรุงพันธุ์เพื่อการค้า เช่น เพชรสายรุ้ง เพชรสามพราน เพชรน้ำผึ้ง ทูลเกล้า
ในผลชมพู่สดมีเส้นใยอาหารทั้งชนิดที่สามารถละลายน้ำและไม่สามารถละลายน้ำ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบขับถ่าย ช่วยลดและควบคุมคอเลสเตอรอลในร่างกาย ลดความเสี่ยงโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ป้องกันโรคหัวใจ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีวิตามินเอช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับสายตาและบำรุงรักษาเซลล์ประสาทตา วิตามินซีช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ชมพู่ยังเป็นหนึ่งในผลไม้ไม่กี่ชนิดที่มีไลโคพีน (Lycopiene) รงควัตถุสีแดงที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
ตามตำรายาโบราณใช้เนื้อชมพู่มาทำแห้งแล้วบดเก็บไว้กินเป็นยาบำรุงร่างกาย เมล็ดที่เราทิ้งไปไม่เห็นค่า ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย แก้โรคเบาหวาน แม้แต่ใบก็ใช้เป็นยาลดไข้ แก้ตาเจ็บได้
ด้วยผลชมพู่มีเปลือกบางและนุ่มและเนื้อนิ่ม จึงจำเป็นต้องห่อผลด้วยกระดาษหรือถุงพลาสติกตั้งแต่ผลเล็ก ๆ เพื่อป้องกันแมลงเจาะทำลายและช่วยให้ผิวชมพู่สวย ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลที่ไม่มีรอยซ้ำ ถลอกหรือรอยหนอนเจาะ และเนื่องจากเนื้อชมพู่ช้ำง่าย บวกกับอายุการเก็บรักษาค่อนข้างสั้น ผลผลิตส่วนใหญ่จึงจำหน่ายภายในประเทศ ไม่เหมาะกับการส่งออก แต่ก็มีการส่งไปยังประเทศใกล้ ๆ อย่างฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซียอยู่บ้าง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น